0 รายการ 0 บาท
สมัครสมาชิกฟรี ล็อกอินใช้งาน นโยบาบเวบไซต์  
 
 
  หน้าหลัก     เกี่ยวกับไร่พอใจ     สินค้าจากไร่พอใจ     เรื่องราวที่ไร่พอใจ     ติดต่อไร่พอใจ
ค้นหาเรื่องราว :
 
สมัครอีเมล์รับข่าวสารต่างๆ จากไร่พอใจ
 
 
 
 
พอเพียง ไม่ใช่อัตคัดขัดสน เป็นการพออยู่พอกิน เหลือแจกจ่ายขาย แล้วจึงขยายเพิ่มได้
 
 
     
 
     
 
สะเดาไทย สมุนไพรรสขม
มากคุณค่าสรรพคุณทางยา
มีฤทธิ์ขับไล่หนอนแมลง
เรื่องและเรียบเรียงโดย ตุ๊แสนฤทธิ์
 
 
 
สะเดาเป็นพืชยืนต้น ปลูกง่ายและโตเร็ว เป็นพืชผักพื้นบ้าน ใบยอดและดอกรสขมนิยมนำมาจิ้มกับน้ำปลาหวาน ใบและเมล็ดแห้งมีคุณสมบัติใช้ป้องกันหนอนแมลง ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งทนทานใช้เป็นไม้ปลูกสร้างบ้าน เรียกว่าเป็นพืชสรพัดประโยชน์
 
 
ช่วงเดือนนี้ (มกราคม) ปลายๆฤดูหนาว เป็นช่วงที่สะเดากำลังออกดอก หลายคนพอพูดถึงสะเดา มักจะนึกไปถึงรสขมๆ ของสะเดาน้ำปลาหวาน พาลทำให้น้ำลายไหลเอา อยู่นิ่งไม่ได้แล้วต้องขวนขวายไปหามากินดีกว่า ที่จริงสะเดาไม่ได้แค่มีประโยชน์กินได้เท่านั้น จัดเป็นพืชที่สารพัดประโยชน์ตั้งแต่ราก ลำต้น ไปจนถึงใบ ดอก ผล เลยแหละ
 
 
 
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ของสะเดา
 
สะเดาจะมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ภาคเหนือเรียก สะเลียม ภาคใต้เรียก กะเดา เป็นต้น สะเดาไทยมี 2 ชนิดด้วยกัน  คือ  สะเดายอดเขียวและสะเดายอดแดง ซึ่งสะเดา  ยอดเขียวจะมีความขมน้อยกว่าหรือบางต้นอาจจะขมน้อยจนได้ชื่อว่า สะเดาหวานหรือ สะเดามัน  แต่สะเดายอดแดงจะมีความขมมากกว่า สะเดาไทยเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วชนิดหนึ่ง เจริญได้ดีในแถบร้อน ทนต่อสภาพ อากาศแห้งแล้ง สามารถขึ้นได้ในดินทุกประเภท ยกเว้นดินที่มีน้ำขัง ดินเค็ม เป็นกรด หรือด่างจัด ลำต้นสูง 15-20 เมตร เปลือกไม้ค่อนข้างหนาสีเทาแก่ แตกเป็นร่องตามยาว เนื้อไม้ สีน้ำตาลแดง ยอดอ่อนสีเขียวหรือน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบมนไม่เท่ากัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ผลัดใบช่วงสั้นๆ ปีละ 1 ครั้ง และจะออกดอก ประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลมีลักษณะและขนาดคล้ายพวงองุ่น รูปทรงรี ขนาด 0.8 - 1 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลจะสุกประมาณ เดือนมีนาคม - พฤษภาคม เมื่อผลสุกแล้วจะมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เมล็ดเดี่ยว รูปรี มีสีเขียว ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
 
 
 
ประโยชน์และสรรพคุณทางยาสมุนไพร ของสะเดาไทย
 
สะเดามีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพรแทบทุกส่วน แพทย์แผนไทยมีการนำมาปรุงเป็นยามาแต่โบราณ พอแยกได้ดังนี้
 
 
1. ใบอ่อน  รสขม  แก้โรคผิวหนัง  น้ำเหลืองเสียพุพอง
 
 
2. ใบแก่  รสขม  บำรุงธาตุช่วยย่อยอาหาร
 
 
3. ก้าน  รสขม  แก้ไข้ บำรุงน้ำดี  แก้ร้อนในกระหายน้ำ 
 
 
4. ดอก  รสขม  แก้พิษโลหิต  พิษกำเดา  แก้ริดสีดวง  คันในคอ  บำรุงธาตุ 
 
 
5. ลูก  รสขมเย็น  บำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติ
 
 
6. ลูกอ่อน  รสขมปร่า  เจริญอาหาร  ฆ่าพยาธิ  แก้ริดสีดวง  แก้ปัสสาวะพิการ
 
 
7. เปลือกต้น  รสฝาดเย็น  แก้ท้องเดิน  แก้บิด  มูกเลือด  แก้ไข้  แก้กษัย
 
 
8. แก่นในลำต้น  รสขมฝาดเย็น  แก้คลื่นเหียนอาเจียน  แก้ไข้จับสั่น  บำรุงโลหิต บำรุงธาตุไฟ
 
 
9. ราก  รสขมฝาดเย็น  แก้เสมหะจุกคอ  แก้เสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก
 
 
10. ยาง  ใช้ดับพิษร้อน
   
 
11. น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดสะเดาใช้เป็นยาคุมกำเนิด  โดยการฉีดเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง  เพื่อฆ่าเชื้ออสุจิ   
 
      นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่  ยาสีฟัน  และเป็นยารักษาเส้นผม
   
  12. ส่วนกิ่งอ่อนสามารถใช้แทนแปรงสีฟันช่วยรักษาให้ฟันแข็งแรงและป้องกันโรคเหงือก
 
 
 
 
คุณค่าทางอาหาร ของสะเดาไทย
 

ส่วนของสะเดาที่ชาวบ้านนิยมนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ ยอดและดอก ซึ่งกำลังออกมากในช่วงนี้ (มกราคม) ใช้รับประทานเป็นผักช่วยให้เจริญอาหาร ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ ยอดสะเดา 100 กรัมให้พลังงานต่อร่างกาย 76 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยน้ำ 77.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12.5 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม มีกาก 2.2 กรัม แคลเซี่ยม 354 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 3611 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.06 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.07 มิลลิกรัม วิตามินซี 194 มิลลิกรัม

 
 
 
 
ประโยชน์ของสะเดา ต่อการทำเกษตร
 
ในทางการเกษตร เกษตรกรนิยมนำใบและเมล็ดมาหมักเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืช ซึ่งในเมล็ดและใบของสะเดา จะมีสาร “อะซาไดแรคติน” อยู่มาก สารตัวนี้มีผลในการป้องกันและกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชได้ดี ตัวสารอะซาไดแรคติน จะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่หนอนและดักแด้ ทำให้หนอนหรือตัวอ่อนไม่ลอกคราบ เป็นสารไล่ตัวหนอนและตัวเต็มวัย ยับยั้งการกินอาหารของหนอนและแมลง ทำให้การผลิตไข่น้อยลง รบกวนการต่อผสมพันธุ์ และการสื่อสารเพื่อการผสมพันธุ์ของแมลง ทำให้ หนอนไม่กลืนอาหาร (ลดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหาร) แต่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร ไม่เป็นอันตรายต่อปลา ไม่มีสารพิษตกค้าง และไม่ทำลายศัตรูแมลงหรือแมลงดีตามธรรมชาติ
 
 
 
 
ไม้สะเดา มีความแข็งแรงทนทานนิยมนำมาใช้ปลูกบ้านและอื่นๆ
 
เนื้อไม้สะเดามีคุณสมบัติที่แข็ง ทนทาน ใกล้เคียงกับไม้สัก มีเนื้อไม้ออกสีแดง มีราคาแพง นิยมนำมาทำเสา วงกบ บานประตูหรือหน้าต่าง ไม้พื้นกระดาน ไม้ฝาบ้าน สะเดาเป็นไม้ที่ปลูกได้ในดินแทบทุกประเภท โตเร็วและทนแล้งกว่าไม้สัก ชอบอากาศร้อน ระยะเวลาในการปลูกเพื่อใช้ไม้ 5-10 ปี หากต้นแก่เกินไป แกนกลางจะเป็นรู ไม่แน่น และผุเร็ว ดังนั้นจึงนิยมตัดสะเดามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่ไม้ยังไม่แก่มากนัก
 
นอกจากจะใช้ลำต้นมาปลูกสร้างบ้านแล้ว กิ่งก้าน ต้นเล็กต้นน้อย ยังเหมาะสำหรับนำมาเผาทำถ่านหุงต้ม เนื่องจากจะได้เนื้อถ่านที่แน่น ติดไฟนาน ไม่มีสเก็ดไฟ ให้ความร้อนในการหุ่งต้มดีมาก เผาได้เนื้อถ่านที่มาก มีน้ำหนักดี และได้เนื้อถ่านที่แข็งไม่แตกหักง่าย ถ่านหุ่งต้มจากไม้สะเดาเป็นที่ต้องการของตลาดราคาแพงพอสมควร
 
 
 
 
ผลพวงสะเดา ห้อยระย้ามากคุณค่า สารขับไล่แมลง
 
หลังจากต้นสะเดาเริ่มออกดอก ได้ประมาณ 1 เดือน ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดอกสะเดาที่เหลือหลุดรอด จากการเป็นอาหารอันโอชะของคนเรา ก็เริ่มทยอยติดผล สะเดาเป็นพืชที่เชื้อราและแมลงไม่รบกวน จึงมีโอกาสติดลูกแทบจะ 100% หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จะเริ่มเห็นพวงลูกสะเดาห้อยระย้าเต็มต้น ซึ่งก็คือช่วงนี้ของเดือนเมษายน ลูกสะเดามีลักษณะผลคล้ายองุ่น มีสีเขียวเป็นพวงคล้ายๆ กัน เมื่อแก่เต็มที่สีผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกงอมผลจะหลุดล่วงลงใต้ต้นมองดูสีเหลืองเกลื่อนตาทั่วไปหมด
 
 
 
 
ลูกสะเดาที่สุกแก่เต็มที่จะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อสุกงอมมากๆ จะร่วงจากต้นเอง หากขี้เกียจปีนต้นสะเดาเพื่อเก็บผล ก็สามารถนำผ้าผื่นใหญ่ๆ มาปูไว้ที่ใต้ต้น แล้วค่อยเก็บรวบรวมผลสะเดาที่ร่วงก็สะดวกไม่น้อย นำผลสะเดาที่ได้ไปตากแดดทั้งผลให้แห้งสนิท แล้วจึงเก็บไว้ใช้งานต่อไป
 
 
 
 
ในเมล็ดสะเดาแห้ง จะมีสารต่างๆ มากถึง 10 ชนิด แต่จะมีปริมาณสาร Azadirachtin (AZA) มากที่สุด ซึ่งสารตัวนี้เมื่อแมลงกินเข้าไป หรือถูกตัวซึมผ่านผนังลำตัวของแมลง แมลงจะไม่ตายในทันที แต่จะมีผลทำให้แมลงตายในระยะลอกคราบจากหนอนระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น สารสกัดจากเมล็ดสะเดาจึงเหมาะที่จะใช้สำหรับแมลงในระยะตัวหนอนหรือตัวอ่อน สารสกัดนี้ยังมีผลกับการผลิตไข่ของตัวแก่ลดลง และเปอร์เซ็นต์การฟักไข่ยังลดลงอย่างมากด้วย ในแมลงบางชนิดอาจลดลงถึง 90% การทำปฏิกริยาของสาร Azadirachtin (AZA) ในตัวแมลง จะทำให้สาร cholesterol ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่แมลงจะนำไปผลิตฮอร์โมนที่ใช้ในการลอกคราบ (ecdysonehormone) เมื่อปริมาณฮอร์โมนที่แมลงสร้างได้น้อย จึงทำให้หนอนไม่สามารถลอกคราบทั้งหมดออกจากร่างกายได้ คงลอกคราบได้เป็นบางส่วน  นอกจากนั้นยังมีผลอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ปริมาณโปรตีนบางอย่างลดลง รูปร่างของเม็ดโลหิตเปลี่ยนแปลงไป ตัวการสำคัญที่ทำให้แมลงตายคือปริมาณของฮอร์โมนที่ใช้ในการลอกคราบมีปริมาณลดน้อยลงมาก จนทำให้มันไม่สามารถลอกคราบเจริญเติบโตต่อไปได้
 
 
 
 
เคล็ดลับการใช้สารสกัดสะเดา ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
 
เมล็ดสะเดาที่ตากแห้งไว้ เมื่อนำมาสกัดสาร จะต้องทิ้งไว้ไม่เกิน 1 ปี ไม่มีเชื่อราขึ้น เนื่องจากสารต่างๆ ที่อยู่ในเมล็ดจะสูญเสียไป เมื่อนำมาสกัด ให้นำทั้งเมล็ดและเปลือกผลที่ตากแห้งไว้มาบดให้ละเอียด นำผงบดเมล็ดสะเดา 1 กิโลกรัม มาแช่น้ำ 100 ลิตร หรือหากต้องการแบบเข้มข้น ก็อาจจะผสมน้ำเพียง 20 ลิตรก็ได้ โดยน้ำที่นำมาแช่จะต้องเป็นกรดอ่อนๆ หากน้ำเป็นด่าง ให้ใช้น้ำส้มสายชูผสมลงไป แล้ววัดความเป็นกรดเป็นด่างดูอีกครั้ง
 
ศัตรูพืชที่สามารถใช้กับสารสกัดสะเดาได้ผลดี ได้แก่ หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ หนอนหลอดหอม หนอนใยผัก หนอนม้วนใบ หนอนบุ้ง หนอนแก้วส้ม หนอนหัวกะโหลก  เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ เป็นต้น แต่มีศัตรูพืชบางกลุ่มที่ใช้ได้ผลปานกลาง เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะต้นกล้าถั่ว หนอนเจาะดอกกล้วยไม้  หนอนเจาะยอดคะน้า หนอนเจาะถั่วฝักยาว หนอนเจาะมะเขือ แมลงวันทอง เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว ไรแดง เป็นต้น จึงต้องพ่นสารสกัดจากสะเดาให้นานขึ้น และยังมีศัตรูพืชที่สารสกัดจากสะเดาใช้ไม่ได้ผลเลย คือตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืชทุกชนิด รวมทั้งด้วงปีกแข็งกัดกินใบ หมัดกระโดด และไรสนิม เป็นต้น
 
 
 
 
การพ่นสารสกัดสะเดา ควรเน้นที่การป้องกันมากกว่า โดยพ่นให้มากกว่า 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5-7 วัน และเนื่องจากแมลงศัตรูพืชโดยส่วนใหญ่จะออกหากินในช่วงตอนกลางคืน จึงควรพ่นสารสกัดเมล็ดสะเดาในตอนเย็นจึงจะได้ผลที่สุด ที่สำคัญควรสังเกตุในแปลงเกษตรบ่อยๆ เพื่อจะได้พ่นป้องกันไว้ได้ทันเวลา สาเหตุที่ต้องมีการพ่นบ่อย เนื่องจากแมลงศัตรูพืชที่กำลังระบาดอยู่ในแปลงพืชนั้น จะประกอบไปด้วยแมลงหลายระยะ  เริ่มตั้งแต่ระยะไข่  ระยะหนอนตัวอ่อนวัย 1 ถึงวัยที่จะเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ และระยะแม่ผีเสื้อตัวเต็มวัย เมื่อพ่นสารสกัดจากเมล็ดสะเดาต่อเนื่องไปแล้ว ก็สามารถยืดระยะเวลาพ่นออกไปได้ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เวลาและแรงงาน ที่สำคัญคือ การพ่นสารสกัดเมล็ดสะเดาจะไม่มีสารพิษตกค้างในพืชผัก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  นับเป็นการถนอมชีวิตของมนุษย์และแมลง ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาอีกทางหนึ่งด้วย
 
 
 
 
ต้นสะเดา ที่ไร่พอใจ เกษตรอินทรีย์
 
ที่ไร่พอใจ เกษตรอินทรีย์ มีการปลูกต้นสะเดาไว้อยู่หลายต้นทั่วไปในบริเวณไร่ เพื่อนำต้นมาใช้ในการปลูกสร้างเรือนพัก เมื่อทำการตัดต้นไปแล้ว ก็จะทำการปลูกต้นไหม่ทดแทนต้นเดิมไว้เสมอ นอกจากจะใช้ประโยชน์จากลำต้นแล้ว ที่ไร่พอใจยังใช้ใบและเมล็ดของสะเดามาหมักรวมกับ บรเพ็ด ใบยาสูบ และเชื่อจุลินทรีย์ เพื่อนำไปฉีดพ่นใน ผัก พืชผล ข้าว เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืช โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสารเคมีเลย ปลอดภัยต่อตัวเรา ผู้บริโภค และไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ในธรรมชาติและแปลงเกษตร
 
 
รวมรูปภาพของสะเดา ที่ไร่พอใจ เกษตรอินทรีย์
 
 
 
 
 
ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์
 
แนวความคิด ของการทำเกษตรอินทรีย์ แบบยั่งยืน
แล้วคำว่า "เกษตรอินทรีย์" มันคือการเกษตรอะไรกันแน่....
ความสำคัญเกี่ยวกับ การทำเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซนต์
     
           
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
พันธมิตรโฆษณา
 

 

 
 
 
 
     
 
 
    ติดต่อเวบมาสเตอร์ :    
 
 
             
สงวนลิขสิทธิ์โดย.....
ไร่พอใจ เกษตรอินทรีย์
 
ที่อยู่บริษัท.....
121 หมู่ 6 ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง
จ.ชัยนาท 10270
 
เบอร์โทรศัพท์.....
093-0367910, 02-9933305
 
เบอร์แฟกซ์์.....
02-9933306    Line ID : raiporjai
 
 
 
อีเมล์ติดต่อ.....
sales@raiporjai.com
 
 
 
 
หัวข้อเมนูหลักในเวบไซต์.....
กลับหน้าหลัก
เกี่ยวกับไร่พอใจ
สินค้าจากไร่พอใจ
เรื่องราวที่ไร่พอใจ
มุมสมาชิก
ติดต่อเวบไซต์
 
 
เมนูอื่นๆ ในเวบไซต์.....
สมัครสมาชิก
สมาชิกล็อกอิน
แจ้งชำระเงินค่าสินค้า
สมาชิกลืมรหัสผ่าน